Article
1 ทศวรรษ “สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี” ก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนากอล์ฟสตรีไทย กับเส้นทางสร้างนักกอล์ฟสู่ระดับอินเตอร์
ในปี 2561 นับได้ว่าเป็นปีหนึ่งที่พิเศษอีกปีของ “สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี” หรือ “ไทยแอลพีจีเอ” เนื่องจากเป็นของการครบรอบปีที่ 10 ของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี ที่อยู่คู่กับการพัฒนานักอล์ฟและ วงการกอล์ฟสตรีของไทย ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งสมาคม จนถึงปัจจุบัน และยังเดินหน้าพัฒนาสู่อนาคตเพื่อสร้างนักกอล์ฟหญิงสู่งวงการกอล์ฟ…
ย้อนอดีต สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี
เมื่อปี 2551 กลุ่มตัวแทนผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ ได้รับการอนุมัติจาก สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการแยกตัวออกไปจัดตั้งสมาคมกอล์ฟอาชีพสตรีขึ้น โดยมีเงื่อนไขที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย และการดำเนินกิจกรรมผ่านนายกสมาคมฯ ท่านแรก คือ ดร. สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวาระ 2 สมัย รวมเป็นเวลา 4 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนมือมาเป็น คุณปฏิญญา ควรตระกูล ในปี 2555 คุณปฏิญญาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกอล์ฟอาชีพสตรีเป็นท่านที่ 2 และดำเนินการบริหารสมาคมฯ ภายใต้การสนับสนุนหลักจากการกีฬาแห่งประเทศไทย บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และพันธมิตรอีกมากมายที่ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน และกิจกรรมต่าง ๆ
เมื่อก่อตั้งสมาคมฯ ขึ้นได้แล้ว คณะกรรมการของสมาคมฯ ในสมัยนั้น ได้มีความคิดที่จะสร้างทัวร์การแข่งขันให้เป็นของสมาคมฯ เอง เพื่อให้นักกอล์ฟสตรีที่เป็นสมาชิกได้มีพื้นที่แสดงฝีมือและพัฒนาต่อไป จึงได้สร้างทัวร์ขึ้นโดยมีการแข่งขันเพียง 4-6 รายการต่อปีเท่านั้น
จุดสำคัญจุดแรกที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นของสมาคมฯ คือเมื่อปี 2556 การกีฬาแห่งประเทศไทยได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณประจำปีให้กับสมาคมฯ เพื่อเป็นเงินรางวัลในการจัดการแข่งขันสำหรับไทยแอลพีจีเอทัวร์ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนรวม 7 รายการ รายการละ 500,000 บาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงสุดถึง 10 รายการของทัวร์ในปี 2557 พร้อมกับแนวความคิดใหม่ของการจัดการแข่งขันจากการกีฬาแห่งประเทศไทยและสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี
โดยการจัดการแข่งขันของทัวร์กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ จากเดิมที่จัดการแข่งขันอยู่ที่สนามปัญญาอินทรา และสนามในละแวกกรุงเทพฯ เป็นหลัก ด้วยความต้องการให้แฟนกอล์ฟในต่างจังหวัดเกิดการรับรู้ถึงทัวร์ของสมาคมฯ และได้ร่วมติดตาม เป็นการสร้างฐานแฟนคลับของการแข่งขันให้เกิดขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนจากสนามกอล์ฟต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขัน
การดำเนินการของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี ในการสร้างทัวร์ให้เติบโตยิ่งขึ้น ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2556 รายการไทยแลนด์ แอลพีจีเอ มาสเตอร์ส จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยเงินรางวัลรวมสูงถึง 3 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจและสร้างเวทีการแข่งขันที่เป็นรายการยิ่งใหญ่ส่งท้ายฤดูกาลของทัวร์ และให้นักกอล์ฟได้ต่อยอดการพัฒนาฝีมือของตนเองให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ
ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากการกีฬาแห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นรายการละ 1,000,000 บาท ให้กับ 8 รายการของไทยแอลพีจีเอทัวร์ และรายการ ไทยแลนด์ แอลพีจีเอ มาสเตอร์ส เพิ่มเป็น 4,000,000 บาท ซึ่งทำให้สมาคมฯ ได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่เพิ่มมากขึ้นของวงการกอล์ฟสตรีของไทย
และการเข้าสู่การแข่งขันระดับนานาชาติด้วยการร่วมมือกับสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรีของออสเตรเลีย หรือ ออสเตรเลียนแอลพีจี ที่เข้ามาแซงค์ชั่นกับรายการ ไทยแลนด์ แอลพีจีเอ มาสเตอร์ส ในปี 2559 จากนั้นสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรีของจีน หรือ ไชน่าแอลพีจีเอ ได้เข้าร่วมแซงค์ชั่นกับรายการนี้ ในปี 2560 ซึ่งเป็นการไตรแซงค์ชั่นกันครั้งแรกของทั้ง 3 สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรีชั้นนำของภูมิภาค และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2561 ทำให้รายการ ไทยแลนด์ แอลพีจีเอ มาสเตอร์ส กลายมาเป็นรายการที่ก้าวขึ้นเป็นสากล และได้ต้อนรับนักกอล์ฟสาวจากทั่วโลกจากกว่า 15 ประเทศที่มาร่วมสร้างสีสันให้กับการแข่งขัน โดยในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน นี้ ณ สนามปัญญาอินทรา กอล์ฟ คลับ เพื่อชิงเงินรางวัลรวม 4,000,000 บาท และนับคะแนนเวิลด์แรงกิ้ง
คุณปฏิญญา ควรตระกูล นายกสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี คนปัจจุบัน เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่เข้ามารับตำแหน่งและได้ช่วยพัฒนาสมาคมฯ อย่างเต็มความสามารถ และยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ อย่างต่อเนื่องติดต่อเข้าสู่ปีที่ 7 กล่าวว่า “นับตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกสมาคมฯ ต่อจาก ดร.สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อปี 2555 ทางสมาคมฯ พยายามสานต่อการแข่งขันกอล์ฟอาชีพสตรีให้มีมาตราฐานเทียบเท่ากับระดับสากลให้มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเราจัดการแข่งขันได้อย่างมีมาตราฐานไม่แพ้กับเวทีการแข่งขันกอล์ฟอาชีพอื่น ๆ และถือว่าเราเป็นหนึ่งในทัวร์กอล์ฟอาชีพหญิงที่แข็งแกร่งระดับแถวหน้าของเอเชีย ซึ่งเห็นได้จากจำนวนรายการแข่งขันในปีนี้ที่มีถึง 9 รายการของเราเอง และมีการชิงเงินรางวัลรวมสูงถึง 12 ล้านบาท”
“กับอนาคตข้างหน้าของไทยแอลพีจีเอทัวร์ เรายังคงจะสานต่อความสำเร็จที่ผ่านมาให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปอีก เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมาเราได้เดินมาถูกทางแล้ว เห็นได้ชัดจากนักกอล์ฟอาชีพสาวไทยของเราที่กำลังเดินทางไปแข่งขันยังต่างประเทศมีมากมาย หากไม่นับรวมในศึก แอลพีจีเอ ทัวร์ ที่เราถือได้ว่าเป็นอีกชาติรองจากเกาหลีใต้ที่มีนักกอล์ฟในศึกแอลพีจีเอ ไทยแอลพีจีเอทัวร์ถือเป็นบันไดขั้นแรกของบรรดาโปรสาวไทยในการก้าวสู่การแข่งขันในระดับที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป” คุณปฏิญญา กล่าวเสริม
ปัจจุบันมีนักกอล์ฟอาชีพหญิงเกิดขึ้นในเมืองไทยมากมาย และหลายคนก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกในแอลพีจีเอ ทัวร์ ไม่ว่าจะเป็น “โปรแหวน” พรอนงค์ เพชรล้ำ, “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล, “โปรโม” โมรียา จุฑานุกาล, “โปรกิ๊ฟ” เบญญาภา นิภัทร์โสภณ, “โปรสายป่าน” ปัณณรัตน์ ธนพลบุญรัศมิ์, ”โปรออม” สุภมาส แสงจันทร์, “โปรนุ๊ก” บุษบากร สุขพันธ์, “โปรจูเนียร์” ธิฎาภา สุวัณณะปุระ, “โปรพีเค” พัชรจุฑา คงกระพันธ์ และอีกหลายคน นอกจากนั้นยังมีบรรดาโปรสาวไทยที่เดินทางไปแข่งในทัวร์ต่างประเทศอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน แอลพีจีเอ, ไชน่า แอลพีจีเอ, เจแปน แอลพีจีเอ รวมทั้งข้ามทวีปไปแข่งขันในเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์
ความมุ่งมั่นของสมาคมฯ ที่ได้สร้างนักกอล์ฟสตรีที่มีคุณภาพเข้าสู่วงการกอล์ฟในประเทศ และมีหลายคนที่สามารถพัฒนาเพื่อก้าวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้นั้น จึงนับเป็นความสำเร็จของสมาคมฯ ในตลอด 10 ปีแห่งความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาวงการกีฬากอล์ฟในบ้านเรา ทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่แฟน ๆ กีฬากอล์ฟชาวไทย และสร้างรากฐานสำคัญในการพัฒนาให้ก้าวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นเสมือนสถาบันที่บ่มเพาะโปรสาวไทย ก่อนที่จะโบยบินสู่เวทีการแข่งขันระดับที่สูงขึ้น และแสดงฝีมือของสาวไทยที่ไม่แพ้ชาติอื่นใด
เรียบเรียงโดย golfdigg
จองกรีนฟี ออกรอบกว่า 150 สนามกอล์ฟทั่วไทยกับ golfdigg ได้แล้ว
บนเว็บไซต์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรีได้ที่