Connect with us

Article

EXCLUSIVE INTERVIEW: ‘ต๊อบ ปฏิญญา’ ชีวิตหลังแฟร์เวย์ และการเตรียมที่จะวางมือจากสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี เพื่อมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว

“ในตอนนั้นมีการเข้าใจแบบผิดๆ เกิดขึ้นด้วยว่า เป็นนายกสมาคมก็ เป็นนายกอ่ะ เป็นหัว แล้วก็ถึงเวลาแข่งขันก็ไปมอบถ้วย แล้วก็นานๆ ทีไปประชุมประจำปีทีนึงก็เป็นคนเรียกประชุม”

Published

on

ชื่อของ “ต๊อบ” ปฏิญญา ควรตระกูล หรือ ป๋าต๊อบ อาจเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงสังคม ไม่ว่าจะในฐานะทายาทเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เครือปัญญากรุ๊ปหรือฐานะคู่รักคนดัง แต่ขณะเดียวกันอีกบทบาทหนึ่งที่น้อยคนจะรู้ นั่นคือ การเป็นนายกสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี ที่เธอนั่งในตำแหน่งนี้มาแล้วกว่า 7 ปี

จุดเริ่มต้นชีวิตบนแฟร์เวย์

เริ่มจากความรักในกอล์ฟของคุณปัญญา ควรตระกูล ผู้เป็นพ่อ จนก่อให้เกิดธุรกิจสนามกอล์ฟ ‘สนามปัญญารีสอร์ท จ.ชลบุรี’

“พ่อพี่รักกอล์ฟมาก บางทีบางครั้งเลยตอนเด็กๆ รักกอล์ฟมากจนมีปัญหากับแม่ก็ว่าได้ เพราะว่าตามประสาคนเล่นกอล์ฟอ่ะ เขาจะเล่นตั้งแต่เช้ายันเย็นแล้วก็อยากจะเล่นแล้วก็ไม่อยากจะกลับบ้าน”

“ตอนนั้นที่เริ่มทำ 27 หลุมเลยนะ สนามสวยมาก หญ้าเบอมิวด้า กรีนตกหยุดพัตต์วิ่ง ยังจำได้อยู่เลย พี่ก็เริ่มบ้ากอล์ฟแรกๆ ก็ช่วงนั้น 30 กว่าปีละ ตอนนั้นบอกตัวเองไว้ว่าจะไม่ตีกอล์ฟเพราะว่า ไม่อยากเหมือนพ่อ ตีกอล์ฟแล้วมันลืมเวลา”

แต่แล้วทุกอย่างก็มีครั้งแรกเสมอ

“วันแรกที่หยิบเหล็ก จำได้เลยว่าเป็นเหล็ก 7 ขึ้นไปลองตีแล้วมันตีโดนลูก วันนั้นวันเดียว ตีไปสิบกว่าถาด ไข้ขึ้นไปอีกเจ็ดวัน ลุกจากเตียงไม่ได้เพราะว่าปวดตัว (หัวเราะ) รู้สึกถึงคำว่า magic เลยอ่ะ magic ของกอล์ฟตอนที่มันตีลูกแล้วลูกมันปลิวไป แล้วมันเบาๆ ในมือ มันมีความรู้สึก ฉันอยากจะตีอีก อยากจะตีอีก อยากจะตีอีก ก็รู้สึกฮุคกับกอล์ฟตั้งแต่ตอนนั้น”

จากคนที่บอกกับตัวเองว่าจะไม่ตีกอล์ฟ ก็กลายเป็นคนที่มีความสุขกับการตีกอล์ฟเอามากๆ ถึงกับเล่าให้ฟังว่า ต้องพกถุงกอล์ฟติดรถ cart เพื่อรอตีกับลูกค้าตั้งแต่เช้ากระทั่งพระอาทิตย์ตกจนตัวดำปี๋ เพียงเพื่อให้ตัวเองได้ไปตีแข่งพนัน

แล้วไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของคุณพ่อได้อย่างไร?

คุณต๊อบเล่าว่า จากชีวิตที่เบี่ยงเบน และหันเหไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเองหรือใคร ก็ได้เริ่มเข้ามาทำงานกับคุณพ่อ (ปัญญา ควรตระกูล) ในตำแหน่งพนักงานขายธรรมดา เงินเดือนหมื่นกว่าบาท ราว 6-7 ปี ก่อนจะไต่เต้าไปจนถึงระดับผู้จัดการและมาเป็นพนักงานขายอยู่กับบริษัทปัญญา

“คุณพ่อทำธุรกิจขึ้นมาก็เพื่อให้ลูกนั่นแหละ แกทำมาก็เพราะอยากให้ลูกมีงานทำแล้วก็ได้มีความรู้ความสามารถ พออายุประมาณนึงก็เรียกให้ลูกมาทำจะได้สอนงาน”

ผลที่ได้จากการทำงานกับสนามกอล์ฟในตอนนั้น

“คือการทำงานกับสนามกอล์ฟมันสนุกนะ อย่างสนามกอล์ฟปัญญา อินทรา พี่มีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนออกแบบ ตอนซื้อที่ ตอนบินไปหาคนออกแบบมา คุยกันเกี่ยวกับว่าหลุมไหนมันจะเป็นยังไง ไปจนถึงการเอาทรายมาลง แล้วขับรถเซฟทราย โรยหญ้า ยังจำได้ถึงคอร์สเอ ตอนที่เป็นมินิคลับเฮ้าส์ ข้างหลังจะเป็นสปริงเกอร์ขึ้น มีแต่ทราย แล้วหญ้าก็ขึ้นเป็นแถวๆ กำลังปลูก เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการปลูกหญ้านั้น”

ก่อเกิดเป็นความรักในสนาม รักในกีฬากอล์ฟขึ้นมากลางใจ

“พี่ว่ามันเป็นกีฬาที่ดีมาก มันสอนเรา สอนให้รู้จักแพ้ สอนให้รู้จักอยู่กับตัวเอง สอนให้รู้จักสู้ เรียกว่าสุขุม เยือกเย็น แล้วรู้ด้วยนะว่าเมื่อไหร่ร้อน แล้วพลาดยังไง คือมันต้องแก้ในเวลาปัจจุบันขณะ แถวๆ นั้นเลย มันมีหลักธรรมะมาปนๆ ด้วยนะ”

จุดเริ่มต้นการเป็นนายกสมาคม

“คือตอนนั้นพี่เลิกชีวิตล้มเหลวใหม่ๆ ก็มีคนรู้จักมาทาบทามว่าเป็นนายกสมาคมไหม พี่ไม่มีความรู้เลยนะ ว่านายกสมาคมต้องทำอะไรบ้าง”

“ในตอนนั้นมีการเข้าใจแบบผิดๆ เกิดขึ้นด้วยว่า เป็นนายกสมาคมก็ เป็นนายกอ่ะ เป็นหัว แล้วก็ถึงเวลาแข่งขันก็ไปมอบถ้วย แล้วก็นานๆ ทีไปประชุมประจำปีทีนึงก็เป็นคนเรียกประชุม”

แล้วจริงๆการเป็นนายกสมาคมกอล์ฟสตรีต้องทำอะไรบ้าง

“หนึ่ง อย่างแรก ใจต้องมาก่อน ต้องทำอะไรบ้างหนะหรอ นายกต้องเป็นคนที่มีความสามารถ มีคอนเนคชั่นเยอะ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักทำงานบริการ เพราะว่าสมาคมมีไว้บริการนักกอล์ฟ professional, Teaching Pro, Touring Pro เราเหมือนกับพีระมิดที่คว่ำ ออฟฟิศอยู่ล่าง นกยากอ่ะอยู่ล่างสุด ทำหน้าที่บริการสมาชิกที่อยู่ข้างบน ไม่ใช่เราสูงสุด กลับกัน หน้าที่ของนายกคือ หาเงิน หาแมทช์ต่างๆ หาวิธีการพัฒนา ก้าวหน้าให้กับสมาชิก หาทางเพิ่มจำนวนสมาชิก หาทางยังไงให้เด็กๆ ที่วางทุกอย่างในชีวิตแล้วยึดอันนี้เป็นอาชีพแล้วเขาอยู่ได้ แล้วเขาอยู่ได้ดี มันเป็นหน้าที่”

ความยากและปัญหาที่เกิดขึ้น

“พี่บอกตรงๆ ว่าตอนที่พี่เริ่มรู้ตัวเมื่อไม่นานมานี้เองนะว่า เสียดายโอกาสไปตั้งนาน งานนายกมันสนุก ปัญหาก็คือการไม่มีการวางแผน สมาคมพี่เองนะไม่ได้พูดถึงคนอื่น เนื่องจากว่าพี่ไม่ได้รู้ถึง Job Description ของการเป็นนายกมาก่อนหน้านี้ว่ามันต้องเป็นอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่สวมหน้ากากแล้วเชิดอย่างเดียว มันก็เลยขาดการวางแผนมาตั้งแต่ต้นปี หรืออีกสองสามปีก่อนเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าการที่จะไปขอประชาสัมพันธ์ การที่จะไปของบจากบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ มันไม่ควรที่จะเป็นการไปขอแบบปีต่อปี เพราะว่า PR Value สำหรับปีต่อปีมันก็ไม่น่าจะได้อะไรด้วย ควรจะเป็นการขอสองปี สามปี มันจะเป็นการขยายแมทช์การแข่งขันจากปีนึงเป็น 8 แมทช์ 9 แมทช์ ก็เป็น 10 แมทช์ 13 แมทช์ 14 แมทช์ แล้วทำยังไงให้กีฬาอาชีพ เขามีเงินที่เขาอยู่ได้ เขามีทั้งเกียรติ มีทั้งเงิน มีทั้งความรักตัวเอง”

งานที่ภูมิใจ

“Masters อันสุดท้ายนี่แหละค่ะ ที่มีความภาคภูมิใจ เพราะว่าสนุก ลำบากนะ แล้วก็ตื่นขึ้นมาด้วยความกลัวเกือบทุกวัน มันจะสำเร็จไหมหนอ มันจะพลาดไหมหนอ มันจะขาดอันโน่นไหม จะขาดอันนี้ไหม คนนั้นจะเอาอันนี้มาให้หรือเปล่า เฮ้อ… แต่มันสนุกมาก มันเป็นอะไรที่มีความพัวพันด้านจิตใจกับมันมาก เพราะบอกได้เลยมันเป็นความชื่นใจกับความสำเร็จ แล้วคนที่พี่ได้พบเจอในระหว่างการทำงานที่เขามีใจให้กับสมาคมด้วย มองเห็นและมองย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 แมทช์สุดท้ายที่พี่เข้าไปทำงาน พี่ก็ได้เจอแต่คนดีๆ ได้เจอแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต มีคนนั้นมาช่วย มีคนนี้มาพยุง มีคนนี้มี offer ให้ มีคนมาดึงเราขึ้นเสียอีก”

“แล้วก็อ๋อ หน้าที่นายกมันมหาศาลอย่างนี้เลย มันไม่ได้มีแค่เล็กๆ อย่างเดียว แล้วเรายอมพร้อมคิดด้วยนะว่ามันจะมีอีกนะ มันจะต่อยอดไปเรื่อยๆ เลยนะ ไม่ใช่ว่าเรามี Job Description อยู่แค่นี้แล้วอยู่แค่นี้นะ มันจะต้องอยู่ที่ว่าเราพร้อมที่จะทำอะไรบ้างที่จะให้สิ่งที่เรารักมันโต เสียดายเหมือนกันนะเนี่ยที่ไม่ได้เป็นนายกต่อ(หัวเราะ)”

เพราะเป็นแมทช์สุดท้ายด้วยหรือเปล่าถึงผูกพัน

“คือครั้งสุดท้ายเนี่ย มันได้มีการทำอะไรแปลกกว่าที่เคยทำ ได้มีโอกาสได้ฟังเด็กๆ นั่งให้สัมภาษณ์ วันนั้นที่ฟังเขาให้สัมภาษณ์ลักษณะคำถามที่เราถามว่ามันยากไหมหนู อุปสรรคคืออะไร ได้เห็นน้ำตา ได้ยินเสียงหัวเราะของนักกีฬาอาชีพทั้งหลาย ถึงจะรู้ว่า เดี๋ยวก่อนนะ กว่าเขาจะมาถึงจุดๆ นี้ โห เด็กเขาเหนื่อยมากนะเนี่ย เขาทุ่มเททุกอย่างเลยนะเนี่ยและเราอ่ะ เราทุ่มเทให้มันพอหรือยัง ก็เลยเกิดความรู้สึกเหมือนกับ ตอนเราอายุ 15 หรือเราอายุ 21 เราทำอะไรอยู่ ตอนนั้นอ่ะ คือยังงงอแงกับพ่อ อยากจะได้รถสวยๆ อยากจะได้เงินเยอะๆ นี่คือเด็กเหล่านี้ตื่นตี 5 ซ้อม บางคนซ้อมมองไม่เห็น เอาไฟฉายวาง พี่ยังเคยเห็นเลย บางคนไม่ว่าจะโดนคนพูดมาเท่าไหร่ว่า เลิกตีกอล์ฟไหมเนี่ย หาอาชีพอื่นได้ป่ะ หรือว่าจะล้มเหลวกี่ครั้งเขาจะลุกขึ้นมา เอาใหม่ๆ หนูทำได้ ตอนที่เราอายุเท่านี้ เราทำอะไรกัน แล้วตอนนี้ดูเด็กสมัยนี้สิ”

ทำไมถึงลาออก

“พี่ก็เสียดายเวลาพี่เหมือนกันนะก่อนหน้านี้ที่พี่ไม่ได้รู้มา แต่พี่ก็ถือว่าพี่ทำดีที่สุดแล้ว เท่าที่พี่ทำได้ พ่อพี่ขอไว้เพราะว่าเห็นว่าอยากให้พี่มาช่วยทำธุรกิจของที่บ้าน เพราะว่าตอนนี้ที่บ้าน คุณพ่อคิดอยากจะทำโครงการใหม่ขึ้นมา ก็เลยอยากจะสอนงานลูก แล้วก็อย่างที่บอก งานนายกไม่ใช่แค่ไปประชุม หรือไปมอบถ้วย งานนายกที่จะเป็นนายกที่มีประสิทธิภาพต่อคนอีกเป็นร้อยๆ คน ที่หวังพึ่งสมาคมอยู่ เราต้องพร้อมที่จะเสียสละอีกเยอะมาก ทั้งเวลา และใส่ใจทุกอย่าง ถ้าทำสองอย่างไม่น่าจะได้ดี”

มีอะไรที่อยากให้นายกคนต่อไปสานต่อเราบ้าง

“อยากให้ช่วยโปรโมทเด็กๆ หน่อยค่ะ เพราะว่าต๊อบไม่มีโอกาสได้ทำ สำหรับต๊อบเองการสนับสนุนนักกีฬารายคนมันช่วยในเรื่องสปอนเซอร์ด้วย มันช่วยเขาในการใช้ชีวิตอยู่ เงินที่เขาจำเป็นที่ต้องไปใช้ในการฝึกซ้อม”

“ทำร่างกายให้แข็งแรง ทำจิตใจให้เขาแข็งแรง หาหมอทางจิตวิทยาเก่งๆ มาประจำอยู่กับสมาคมเลยก็ได้ แล้วให้เด็กเขามีที่ปรึกษา เพราะว่ามันเป็นกีฬาที่เครียดมากสำหรับเด็กที่อายุน้อยมาก แล้วยังจัดการกับความเครียดของตัวเองไม่เป็น”

“แมทช์การแข่งขันให้มีเยอะกว่านี้ แล้วก็ยอมที่จะรับเงินส่วนเอกชนมาบ้าง เขาจะได้มีเงินที่จะใช้ระหว่างที่มีการแข่งขันประจำอยู่แล้วกับการกีฬา”

“แล้วก็มีตั้งหลายอย่าง จัดเสริมความรู้ หรืออนุญาตให้กับนักกีฬาต่างชาติเข้ามาแข่งขันมากกว่านี้ โดยมีกฎที่ Friendly กับนักกีฬาต่างชาติมากกว่านี้”

“สมัยก่อนสมาคมเรานั่งอยู่แล้วเรามีกล่องอยู่กล่องนึงที่เราคิดแล้วเราคิดว่าเนี่ย เราต้องอยู่ในกล่องนี้ ขอให้ทุกคนวางมันซะใหม่ คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาให้บอกตัวเองไว้ด้วยว่ามันไม่มีครับกล่อง กล่องมันไม่มี ไม่ใช่ Think outside the box นะ แต่มัน No box แล้วสมาคมจะเจริญ”

จากวันแรกจนถึงวันนี้สมาคมเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

“ก็โตขึ้นนะ ก็มีน้องๆ ประสบความสำเร็จ เข้าไปในแอลพีจีเอที่ยุโรปบ้าง ที่อเมริกาบ้างเยอะขึ้น แต่ช่วงปีสองปีที่ผ่านมาพี่ว่ามันฟึ่บ…แล้วมันนิ่ง ตัวโจทย์ที่ว่าทำไมมันถึงนิ่ง นายกคนต่อไปต้องหาให้ได้นะ ว่าทำไมมันถึงนิ่ง เหมือนมีการโปรโมทอะไรสักอย่าง โปรโมทเสร็จแล้วมันหยุด มันไม่ได้ต่อเนื่อง อันนี้คือสิ่งที่บ้านเราต้องแก้ไข บ้านเราต้องแก้ไขว่าเราทำยังไงที่เราจะสม่ำเสมอต่อเนื่องให้กับนักกีฬา เพราะว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ควรจะได้รับการสนับสนุน เพราะว่ามันเป็นอาชีพที่เขา self-esteem กับ self respect ของคน โดยเฉพาะเด็ก มันจะมีมากแล้วพอมีสิ่งเหล่านี้ อบายมุขอื่นๆ ก็ไม่ค่อยจะมี”

ดูเหมือนจะสนิทกับน้องๆ มาก เริ่มไปสนิทกันได้ยังไง

“พี่นับถือเด็กๆ อยากที่บอก ตอนที่พี่อายุเท่านั้น ไม่มีหรอก discipline แบบนี้ วินัยอ่ะไม่มี แล้วพี่เห็นเขามีแล้วพี่นับถือ บอกตามตรงพี่นับถือในความขยัน แล้วพี่เป็นคนที่มีความนับถือให้กับคนที่มีความมานะมุ่งมั่นแล้วขยันนะ พอน้องๆเขามาคบกับเราเป็นเพื่อน เราก็รู้สึกดีใจ รู้สึกเป็นเกียรติอ่ะ มาเห็นเราเป็นรุ่นพี่”

ข้อดีของการได้สนิทกับน้องๆ นักกีฬา

“มีโอกาสได้ฟังเขามากขึ้นค่ะ ถึงอุปสรรคระหว่างมนุษย์คนนึงกับมนุษย์คนนึง มันไม่ใช่ว่าเขาเป็นนักกีฬาแล้วก็ได้ชื่อว่าโปรนี้ๆ โปรนั้นๆ แล้วเราก็จะเห็นแค่ชื่อ แต่เราไม่เห็นว่ากว่าเขาจะมาถึงชื่อเนี่ย ตรงนี้ เขาต้องผ่านอะไรบ้าง แล้วจากตรงนี้เขาก็ต้องเจออะไรบ้างในอนาคต เราไม่เห็นๆ เราเห็นแค่ Title ไม่ได้รู้จักตัวเขาเป็นๆ จริงๆ”

อยากจะบอกอะไรน้องๆที่ตอนนี้ยังต้องพยายามต่อไป

“ฝีมือมันเป็นสะสมทรัพย์ค่ะ อยู่ดีๆ คนเราจะตื่นขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จเลยในชีวิต มีเหมือนกัน แต่เปอร์เซ็นน้อย ส่วนมากแล้วทุกอย่างมันต้องใช้สะสม สะสมบุญ สะสมเวลา สะสมความสามารถ สะสมความขยันหมั่นเพียรและสะสมการรู้จักแก้ปัญหา คนเราจะประสบความสำเร็จได้ดีนะ ถ้าคนๆ นั้นรู้จักแก้ปัญหา ใจเย็นๆ เป้าหมายวางได้แต่ถ้าเราไปไม่ถึงมัน อย่าวางไว้แต่ว่าฉันต้องได้ภายในปีนี้เวลานี้ แต่วางได้ว่านี่มันเป็นจุดประสงค์ที่วันนึงฉันต้องไปถึง และฉันต้องพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อไปถึง ถึงแน่ๆ สะสมทรัพย์ สะสมไว้ๆ ใส่แบงค์ไว้ๆ (หัวเราะ)”

ถ้าผู้ปกครองที่กำลังลังเลอยู่ว่าจะให้ลูกเอาดีด้านกีฬานี้ดีไหมมีอะไรอยากแนะนำ

“พี่ก็อยากจะบอกว่าการเรียนสำคัญค่ะ ยังไงๆ เด็กก็ต้องจบนะ เพราะว่าถ้าเขาไม่จบ มันจะมีเซ้นส์ของการที่เราทำอะไรแล้วมันไม่ complete อ่ะ แล้วตัวเซ้นส์ที่ ฉันทำอะไรแล้วฉันทำไม่จบ มันจะติดตัวไปจนวันตายเลยนะ มันจะทำให้เราเป็นคนที่ ไม่สู้ความจริง ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองไปเลย เพราะฉะนั้นการเรียนสำคัญ ยังไงเรียนต้องให้เรียน ต้องเรียนให้จบ ต้องเข็นให้เรียนให้จบ ไม่ใช่ว่าลูกเรียนไม่ได้ให้คนอื่นมาทำแทน มันไม่ใช่ เขามีหน้าที่รับผิดชอบต้องเรียนหนังสือ เรียน อยากจะตีกอล์ฟ เป็นกอล์ฟอาชีพ ทำได้ ทำไมจะทำสองอย่างไม่ได้ ทำได้ แต่พ่อแม่ที่ดีต้องวางแผนให้ลูกดีๆ เอาการเรียนไว้ก่อน ประสบความสำเร็จไว้ก่อน ถ้าเป็นพี่นะ พี่ก็จะพูดอย่างนั้น สำคัญนะใบกระดาษเนี่ย สำคัญนะ”

วิธีการวางแผนหรือแนวทางการใช้ชีวิตคุณต๊อบที่ต้องรับผิดชอบอะไรหลายๆอย่าง

“พี่เห็นทุกอย่างเป็น to do list เพราะว่าถ้าเราไม่มองทุกอย่างเป็น to do list ที่เราทำไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ว่าวันพรุ่งนี้ฉันตื่นขึ้นมาฉันต้องทำ 1 2 3 4 5 6 7 8 แล้วเราทำเสร็จปุ๊บ เราก็ขีดออกๆ มันจะเยอะ มันจะนั่งอยู่แล้วเหมือนกับว่ามีอันนั้น อันนี้ลอยมา แล้วมันเต็มไปหมด ผลปรากฏว่า อยู่ในสภาวะเครียด แล้วทำได้ดีไหม? ไม่ได้ แก้ปัญหาได้ไหม? ไม่ได้ พี่มองว่าพอมันมี list ว่าฉันต้องทำอะไรบ้าง แล้วฉันต้องทำให้สำเร็จภายในเวลาอะไรบ้าง เราก็จะทำด้วยความมุ่งมั่น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละอันๆ ไป พี่ว่าสิ่งที่คนเราควรจะมีที่สุดในปัจจุบันนะคือแก้ปัญหาให้เป็น ไม่งั้นชีวิตอยู่ยาก”

อยากฝากอะไรถึงสมาคมกอล์ฟสตรี

“ฝากนักกีฬาค่ะ (หัวเราะ) ก็ได้แต่บอกว่ามันเป็นความผูกพัน แล้วก็มีเด็กๆ ตาดำๆ ที่เขาวางทุกอย่างของชีวิต ต้องการที่จะตามหาความเป็นนักกอล์ฟอาชีพ หน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนคือสานฝันของเด็กให้มันสำเร็จ ให้มั่นคง อย่าให้มีปัญหาเกิดขึ้นในสมาคม อย่าให้มันง่อนแง่น เป็นสมาคม หรือครอบครัว ที่ทำให้เด็กไม่มั่นคง ไม่ได้นะคะ มันสำคัญค่ะ ทำยังไงก็ได้ ทำให้ดีที่สุด แล้วทำให้มั่นคง ทำด้วยใจอะ นี่สำคัญค่ะ(ยิ้ม) ขอใจค่ะ ใจมาทุกอย่างสำเร็จ ผลประโยชนที่จะได้รับอะไรบ้าง ที่มันมีจากสมาคมก็ขอให้เป็นผลประโยชน์ของเด็กๆ ที่เขาจะได้รับก็แล้วกันค่ะ ผลประโยชน์ของผู้ใหญ่ไปหาเอาข้างนอก”

ต่อจากนี้เราจะยังได้เห็นคุณต๊อบในวงการกอล์ฟอยู่ไหม

“ถ้ายังอนุญาตอยู่นะคะ พี่ก็ยังอยู่แถวๆ นี้แหละค่ะ เพราะว่าสนามปัญญาฯ พี่ก็ยังคงยินดีที่จะให้เป็นที่ซ้อม ที่ฝึก แล้วก็ที่พักกกพิงของเด็กๆนักกีฬาต่อไป ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนเหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง ตัวพี่ก็ยังอยู่ตรงนี้ เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆ เหมือนเดิม อาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำนะคะ”

ชมคลิปสัมภาษณ์เต็มๆ:



เรียบเรียงโดย golfdigg

จองกรีนฟี ออกรอบกว่า 150 สนามกอล์ฟทั่วไทยกับ golfdigg ได้แล้ว
บนเว็บไซต์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรีได้ที่