Connect with us

Article

LPGA ครบรอบ 70 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง บนเส้นทางกอล์ฟสตรีโลก

Published

on

19 – 22 มกราคม 1950 คือช่วงเวลาที่ทัวร์นาเมนต์ของ LPGA ทัวร์ ได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกของโลก จากวันนั้นถึงวันนี้ LPGA ทัวร์ได้กลายเป็นความฝันอันสูงสุดที่โปรสาวใฝ่ฝันจะได้โลดแล่นในทัวร์นี้

ในวาระครบรอบ 70 ปี มาดูกันว่าตลอดการเดินทางอันแสนยาวนานของทัวร์นาเมนต์กอล์ฟสตรีที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนี้ ได้จารึกเรื่องราวอะไรให้เราได้ระลึกถึงกันบ้าง

ยุคบุกเบิก (1950s – 1979s)

1950 คือปีที่ LPGA หรือองค์กรกอล์ฟสตรีได้ถูกก่อตั้งโดยนักกอล์ฟ 13 ชีวิต ได้แก่ Alice Bauer , Marlene Bauer Hagge, Patty Berg, Bettye Danoff, Helen Detweiller, Helen Hicks, Opal Hill, Betty Jameson, Sally Sessions, Marilynn Smith, Shirley Spork, Louise Suggs และ Babe Didrikson Zaharias มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีเดียวกันนั้นได้มีทัวร์นาเมนต์รวมทั้งสิ้น 15 รายการ

Marlene Bauer Hagge วัย 85 ปี และ Shirley Spork วัย 92 ปี
คือผู้ก่อตั้ง 2 คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนี้

รายการเบิกฤกษ์ คือ Tampa Women’s Open ที่สนาม Palma Ceia Golf and Country Club ฟลอริด้า ประเทศสหรัฐฯ ที่มีเงินรางวัลรวมเพียง 3,500 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยปัจจุบันอยู่ที่ราว 106,000 บาท ซึ่งแชมป์แรกของประวัติศาสตร์กอล์ฟสตรีคือ นักกอล์ฟสมัครเล่น Polly Riley ที่เฉือนชนะ Louise Suggs ไป 5 สโตรก

• ผู้เล่นที่โดดเด่น •

Bebe Didrikson Zaharias ที่คว้าแชมป์ได้มากสุดถึง 8 รายการตั้งแต่ปีแรกที่ทัวร์ก่อตั้ง ก่อนที่ 6 ปีต่อมาเธอจะลาโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 45 ปี ด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งระยะเวลาเพียง 6 ปีนั้นเธอสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 41 รายการ นอกจากนี้ยังมีทักษะกีฬาด้านอื่นๆ เป็นเลิศ ทั้งประเภทลู่และลาน การันตีด้วย 3 เหรียญโอลิมปิกในปีเดียว (1932) จนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เล่นหญิงที่มากไปด้วยความสามารถทางด้านกีฬา

Louise Suggs นักกอล์ฟสาวที่มีผลงานโดดเด่นในวงการกอล์ฟ และเพื่อเป็นเกียรติให้แชมป์ 58 รายการ ในทัวร์นาเมนต์สุดท้ายก่อนเกษียณปี 1962 ชื่อของเธอได้ถูกนำมาตั้งเป็นรางวัลใหม่ Louise Suggs Rolex Rookie of the Year Award เพื่อมอบให้นักกอล์ฟหน้าใหม่ที่มีผลงานดีที่สุด

นอกจากนี้ยังมี Patty Berg (คว้าแชมป์เมเจอร์ได้มากที่สุดตลอดกาล 15 รายการ), Betsy Rawls , Beverly Hanson

1953 มีรางวัล Vare Trophy ผู้เล่นที่ทำสกอร์เฉลี่ยทั้งปีดีที่สุดครั้งแรก

1955 แชมป์ต่างชาติคนแรก Fay Crocker จากอุรุกวัย

1956 จัดการแข่งขันนอกสหรัฐฯเป็นครั้งแรก ในรายการ Havana Open ประเทศคิวบา

ยุคเก่าไปใหม่มา  (1960s – 1669s)

มีผู้เล่นมือฉมังหน้าใหม่สลับสับเปลี่ยนแทนที่

1962 มีรางวัล Rolex Rookie of the Year Award ครั้งแรก มอบให้นักกอล์ฟหน้าใหม่ที่ทำผลงานดีที่สุดในปีนั้น ( ต่อมาเพิ่มชื่อ Louise Suggs ภายหลัง)

1966 มีรางวัล Player of the Year ครั้งแรก

1962 Sam Sneed คือผู้เล่นชายคนแรกและคนเดียวที่คว้าแชมป์ในทัวร์กอล์ฟสตรีจากรายการ Royal Poinciana Plaza Invitationas

• ผู้เล่นที่โดดเด่น •

Mickey Wright ตั้งแต่คว้าแชมป์รายการแรกในปี 1956 เธอก็สร้างผลงานโดดเด่นเรื่อยมาจนถึงปี 1964 ด้วยการเป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์มากที่สุดถึง 6 ปี และได้ Vare Trophy 5 ปีซ้อน

Kathy Whitworth ตำนานผู้เล่นสาวที่ทำสถิติคว้าแชมป์ได้มากที่สุดในวงการกอล์ฟโลกถึง 88 รายการ และเป็นผู้เล่นคนแรกที่ได้รางวัล Player of the Year

1967 การคว้าแชมป์แรกของโปรสาวนอกทวีป

  • Catherine Lacoste นักกอล์ฟสาวสมัครเล่นจากฝรั่งเศสที่ขึ้นนำตั้งแต่วันแรกและคว้าแชมป์แรกในชีวิตด้วยรายการเมเจอร์ในที่สุด
  • Margie Master โปรสาวชาวออสเตรเลีย

ยุคปลุกปั้น (1970s – 1979s)

1971 มีการเพิ่มเงินรางวัลรวมสูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ​ ครั้งแรก ในรายการ Sears Women’s World Classic 

1972

  • มีการเพิ่มเงินรางวัลรวมสูงถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ​ ครั้งแรก ในรายการ Dinah Shore Colgate Winner’s Circle (ภายหลังคือรายการเมเจอร์ ANA Inspiration)
  • Jane Blalock ถูก LPGA ตัดสิทธิ์จากการแข่งขันหลังจบรอบสองในรายการ Bluegrass Invitation และปรับเป็นเงิน 500 เหรียญสหรัฐฯ โดยอ้างว่าเธอทำผิดกฎในหลุมที่ 17 เกี่ยวกับการมาร์คลูกส่งผลให้เธอถูกแจ้งว่าเธอส่งสกอร์การ์ดผิด เพราะไม่ได้หักลบกับโทษที่ต้องถูกปรับ 2 สโตรก แม้ว่าเธอจะได้รับการตรวจสอบจากผู้เล่นที่ออกรอบร่วมและกรรมการตอนส่งผลแล้วก็ตาม ทำให้เธอตัดสินใจฟ้องกลับ LPGA จนกลายเป็นคดีความยืดเยื้อกันอยู่ 3 ปี  ก่อนจะจบที่ศาลสั่งให้ Blalock ได้รับค่าชดเชยจาก LPGA รวมเป็นเงิน 95,303 เหรียญสหรัฐฯ และได้กลับมาเล่นในทัวร์อีกครั้งในปี 1975

1976 ครั้งแรกที่จัดนอกโซนอเมริกาเหนือถึง 3 รายการ (อังกฤษ, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์) และเป็นครั้งแรกที่โปรสาวญี่ปุ่น Hisako Chako Higuchi และแอฟริกา Sally Little คว้าชัยในแอลพีจีเอทัวร์

1977 Silvia Bertolaccini คว้าแชมป์แรกให้อาร์เจนติน่า

1978 Nancy Lopez คือ ดาวรุ่งดวงแรกแห่งวงการกอล์ฟ เพราะนอกจากเธอจะคว้ารางวัล Rookie of The Year ได้แล้ว ในปีเดียวกันเธอยังได้รับทั้งรางวัลผู้เล่นแห่งปี , สกอร์เยี่ยมแห่งปี และผู้เล่นที่ทำเงินมากที่สุดในปีนั้นไปครอง นับเป็นผู้เล่นคนเดียวใน LPGA ที่เก็บรางวัลใหญ่ได้ครบ 4 รางวัล ในตอนนั้น

ยุคการเปลี่ยนแปลง (1980s – 1999s)

1980 ปีที่มีแมตช์การแข่งขันมากที่สุดในแอลพีจีเอทัวร์ 38 รายการ

1981 มีการปรับเงินรางวัลผู้ชนะในรายการ World Championship of Women’s Golf สูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ครั้งแรก 

ยุคสร้างชื่อของ JoAnne Carner, Pat Bradley, Betsy King, Julie Inkster, Beth Daniel , Nancy Lopez

1986 Ai – Yu Tu แชมป์ชาวไต้หวันคนแรก

1987 Ayako Okamoto จากญี่ปุ่น ผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลทำเงินสูงสุดและผู้เล่นแห่งปี

1988 Ok-Hee Ku คือผู้เล่นชาวเกาหลีใต้คนแรกที่คว้าแชมป์แอลพีจีเอทัวร์

1990 ทัวร์นาเมนต์แรกที่มีเงินรางวัลรวม 1,000,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่รายการ Mazda LPGA Championship (ภายหลังเป็นรายการเมเจอร์ KPMG Women’s PGA Championship)

• ผู้เล่นที่โดดเด่น •

Annika Sörenstam จากสวีเดน (Rookie of the Year 1994)
Karrie Webb จากออสเตรเลีย
Se ri Pak จากเกาหลีใต้ (Rookie of the Year 1998)

1998 พบว่าเป็นปีแรกที่ LPGA ทัวร์ มีสัดส่วนแชมป์จากชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันมากถึง 19:17 คน

ยุคสี่ทหารเสือ LPGA (2000s – 2009s)

ยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคที่โปรสาวนานาชาติเข้ามามีบทบาทเหนือชาวอเมริกันมากขึ้น โดยช่วงแรกยังคงเป็นปีทองของ Annika Sörenstam นักกอล์ฟสาวที่ประสบความสำเร็จตลอดกาล เจ้าของสถิติแชมป์ 72 รายการ ซึ่งขับเคี่ยวกับ Kerrie Webb อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน Se-ri Pak ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชาติปลุกกระแสกอล์ฟในเกาหลีใต้จากการเป็นโปรสาวเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์เมเจอร์ (U.S Women’s Open) ในปี 1998 และทำผลงานได้ดีต่อเนื่องเรื่อยมา ซึ่งช่วงเวลานี้ก็มีโปรสาวจากเม็กซิโก Lorena Ochoa ที่ฉายแววหลังการเป็น Rookie ซึ่งประกอบกับที่ Annika Sörenstam เริ่มมีอาการบาดเจ็บที่หลังและคอ กระทั่งรีไทร์ในปี 2008

Lorena Ochoa สวิงสาวชาวเม็กซิกันได้รางวัล Rookie of The Year ในปี 2003 และทำผลงานได้ยอดเยี่ยมด้วยสถิติตลอดการเล่นเพียง 7 ปี ด้วยการคว้าแชมป์ 27 รายการ

ซึ่งในขณะที่เส้นทางอาชีพกำลังเฟื่องฟูอยู่ในอันดับ 1 ของโลก เธอก็ได้สร้างความตกใจให้แฟนกอล์ฟด้วยประกาศรีไทร์ ในปี 2010 แต่ในความเป็นจริงได้เธอได้วางแผนที่จะเล่นกอล์ฟเพียง 10 ปีอยู่ก่อนแล้ว เพราะเป้าหมายต่อไปที่เธอวางไว้คือการสร้างครอบครัว

2006

  • Honda LPGA Thailand ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกและเป็นรายการเดียวในไทยที่มาจาก LPGA ทัวร์
  • “โปรอุ๋ย” วิรดา นิราพาธพงศ์พร นักกอล์ฟไทยคนแรกที่ได้เล่นใน LPGA ทัวร์

2008 แอลพีจีเอทัวร์เฟื่องฟูทั้งเงินรางวัลสะสมและผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Yani Tseng, Jiyai Shin และ Inbee Pak

2009 Carolyn Biren ประธาน LPGA ถูกผู้เล่นกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ Michael Whan ขึ้นเป็นประธานคนใหม่จนถึงปัจจุบัน

ยุคเลือดใหม่มาแรง (2010s – 2019s)

หลังจากได้ประธานคนใหม่ หลายรายการได้ถูกปรับเปลี่ยนสปอนเซอร์ บ้างก็มีรายการใหม่มาทดแทน บ้างก็กลับมาอีกครั้ง และหลายรายการเริ่มจัดนอกสหรัฐฯ

• ผู้เล่นหน้าใหม่ที่โดดเด่น •

Yani Tseng, Inbee Park, Stacy Lewis, So-Yeon Ryu, ShanShan Feng , Lexi Thompson, Park Sung Hyun, Ariya Jutanugarn, Ko Jin-Young

2012 Lydia Ko คว้าแชมป์แรกและขึ้นแท่นแชมป์สมัครเล่นอายุน้อยที่สุดใน LPGA ด้วยวัยเพียง 15 ปี

2013 “โปรโม” โมรียา จุฑานุกาล ได้รางวัล Rookie of The Year

2014 

  • ปีแรกที่มีการจัดอันดับคะแนนสะสม Race to CME Globe โดยเก็บคะแนนทั้งปี เพื่อหาผู้เล่นลำดับ 1-72 คนไปชิงชัยในCME Group Tour Championship แมตช์ปิดฤดูกาล โดยผู้ที่มีคะแนนอยู่ในลำดับ 1 จะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง Lydia Ko คือ ผู้เล่นคนแรกที่ได้รางวัลนี้ไปครอง
  • ปีแรกที่มีรางวัล Rolex Annika Major Award มอบให้นักกอล์ฟหญิงที่ทำผลงานดีที่สุดในรอบปี ซึ่ง Mitchelle Wie ได้ไปครองเป็นคนแรก

2016 

  • เงินรางวัลสะสมสูงสุดตลอดกาลราว 63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • โปรเม เอรียา จุฑานุกาล ขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลก พร้อมทั้งเป็นนักกอล์ฟคนแรกในประวัติศาตร์ไทยที่คว้าแชมป์ใน LPGA ทัวร์ และคว้ารางวัลผู้เล่นทำเงินสูงสุด, ผู้เล่นยอดเยี่ยม และ Race to CME Globe จากการคว้าแชมป์ 5 รายการ 1 เมเจอร์
  • Inbee Park คว้าเหรียญทองโอลิมปิก

2018 โปรเมสร้างประวัติศาสตร์ LPGA ด้วยการเป็นผู้เล่นหญิงคนแรกที่กวาดทุกรางวัลใหญ่ (Rolex Player of the Year, Louise Suggs Rolex Rookie of the Year, Rolex Annika Major Award, Race to the CME Globe)

2019 รุกกี้จากปีที่แล้ว Ko Jin-Yong ผงาดคว้า 4 แชมป์ โดย 2 แชมป์เป็นรายการเมเจอร์ ทำให้ปีนี้เธอเดินตามรอยโปรเม กลายเป็นผู้เล่นคนที่สองในประวัติศาตร์ LPGA ที่กวาดทุกรางวัลใหญ่

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการจากรางวัลที่มอบให้นักกอล์ฟสาวทุกๆ ปี คือ ผู้เล่นสาวส่วนใหญ่ที่ได้รางวัล Rookie of the Year มีแนวโน้มทำผลงานยอดเยี่ยมในปีถัดมา และขึ้นมาอยู่แถวหน้าในวงการกอล์ฟสตรี

ปัจจุบัน LPGA ได้เติบโตขึ้นอย่างมากและมีองค์กรกอล์ฟสตรีกระจายอยู่หลายๆ ประเทศ รวมถึงทัวร์รองและโรงเรียนควอลิฟาย เพื่อพัฒนาสร้างนักกอล์ฟสตรีที่มีคุณภาพในทัวร์อย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณข้อมูล
https://www.olympic.org/news/the-legend-of-babe-didrikson
https://www.espn.com/golf/news/story?id=5118201
https://www.lpga.com/news/2020-70th-anniversary-release-1?fbclid=IwAR2p7rrRP3zQqa2yeKtJe4oKETcsdFdXgAXg3y9GmOSTg37Y0P6RXdmBXt8
https://en.wikipedia.org/wiki/LPGA



เรียบเรียงโดย golfdigg

จองกรีนฟี ออกรอบกว่า 150 สนามกอล์ฟทั่วไทยกับ golfdigg ได้แล้ว
บนเว็บไซต์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรีได้ที่